No Widgets found in the Sidebar

ความสำเร็จคือเป้าหมายของนักกีฬาทุกคน แต่กว่าจะไปถึงความฝันที่ตั้งใจไว้ การเดินทางไปถึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และบางครั้งเพื่อไปหาความฝัน พวกเขาต้องการแรงสนับสนุน …จากด้านหลัง

หนึ่งในกีฬาที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ของทีมชาติไทย คือเซปักตะกร้อ กีฬาที่นักกีฬาจากดินแดนขวานทอง ครองความยิ่งใหญ่มานาน และเป็นที่เลื่องลือถึงความเก่งกาจจนรู้กันไปทั่วทวีปเอเชีย หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ของทัพลูกหวายทีมชาติไทย คือ ภัทรพงษ์ ยุพดี ผู้เล่นตำแหน่งมือชง ที่ได้รับการยอมรับจากคนดูกีฬาตะกร้อทั่วประเทศไทย และเป็นแรงบันดาลใจ ให้กับนักตะกร้อรุ่นน้องอีกหลายคน 6 เหรียญทองเอเชียนเกมส์, 9 เหรียญทองซีเกมส์ และ 10 แชมป์คิงส์คัพ คือ เกียรติประวัติของภัทรพงษ์ กับความสำเร็จที่เขาคอยชงลูกตะกร้อ ให้นักหวดลูกหวายทีมชาติไทย ฟาดลูกคว้าคะแนนมาแล้วนักต่อนัก

ในขณะที่ภัทรพงษ์ คือ เบื้องหลังความสำเร็จของทัพตะกร้อทีมชาติไทย ยังมีอีกหลายบุคคล ที่อยู่เบื้องความสำเร็จของผู้ชายคนนี้ และมีส่วนช่วยสร้าง ภัทรพงษ์ ยุพดี จากเด็กน้อยคนหนึ่ง ที่ไม่ชอบในกีฬาลูกพลาสติก ให้กลายเป็นตำนาน ของวงการตะกร้อเมืองไทย และยังคงเข้มข้นเปี่ยมด้วยพลังใจไม่เคยหมดไฟด้วยวัย 35 ปี

เพาะพันธุ์วิชาตะกร้อ

หากเปรียบการเติบโตของนักกีฬา เป็นดั่งต้นกาแฟ บางต้นสามารถเจริญเติบโต ตามธรรมชาติ จากความชื่นชอบ และรักในการเล่นกีฬาด้วยตนเอง แต่สำหรับบางต้น การจะเริ่มเพาะพันธุ์เมล็ดให้เติบโต ต้องยืมมือนักเพาะเมล็ดชั้นดี เข้ามาช่วยเหลือ

“พ่อของผมท่านเป็นคนชอบเล่นตะกร้อมาก ชอบเล่นแบบว่า ทุกวันขอให้ได้ไปสนามตะกร้อ ฝนตกก็ไป ขอแค่ให้มีพื้นที่เล็กๆ ที่ไม่เปียกฝน ท่านก็สามารถยืนเล่นตะกร้อได้” ภัทรพงษ์ ยุพดี เล่าถึงชายที่มีส่วนสำคัญ ในการปลูกวิชาตะกร้อให้กับตัวเขา อาการบาดเจ็บ คือ สิ่งที่ทำให้คุณพ่อของภัทรพงษ์ ยุพดี ไม่สามารถเป็นนักตะกร้ออาชีพได้ตามที่ฝัน ด้วยเหตุนี้เขาจึงนำความฝันที่มี มาปลูกไว้ในตัวของลูกชาย หากแต่มีปัญหาสำคัญเพียงข้อเดียว ภัทรพงษ์ไม่ชอบเล่นตะกร้อ

“ตอนเป็นเด็ก ผมไม่เคยชอบเล่นตะกร้อเลยนะ ไม่เคยสนใจ ไม่ได้ใส่ใจ ไม่มีความฝันที่อยากเป็นนักกีฬาทีมชาติ แต่ที่ผมเล่นตะกร้อ เพราะว่าถูกพ่อบังคับ เล่นเพราะกลัวพ่อตี แค่นั้นเลย เวลาเล่นตะกร้อ พ่อบอกให้ทำอะไรก็ทำ ไม่ได้เล่นด้วยความสนุก ผมไม่มีใจที่รักตะกร้อเลย”

ทุกเย็นหลังเลิกเรียน ภัทรพงษ์ต้องรีบกลับบ้าน เพื่อเปลี่ยนชุดนักเรียน เป็นชุดกีฬา และไปที่สนามตะกร้อ เพื่อฝึกและเล่นตะกร้อ ร่วมกับคุณพ่อ ท่ามกลางความสงสัยว่าเหตุใด พ่อของเขาถึงต้องคอยบังคับให้เล่นตะกร้ออยู่ทุกเย็น ทำไมคุณพ่อของเขาถึงไม่ยอมกลับบ้าน หลังจากเลิกงาน แต่เลือกมาที่สนามตะกร้อ เพื่อปลูกฝังวิชากีฬาลูกพลาสติก ให้กับลูกชาย?

บางครั้งการเติบโตของเมล็ดพันธุ์ อาจต้องใช้เวลา ในวันที่วิชาตะกร้อยังไม่เติบใหญ่ เราอาจไม่เห็นคุณค่า แต่เมื่อปฏิทินค่อยๆเปลี่ยนแปลงไป วิชาตะกร้อที่คุณพ่อปลูกฝังไว้ให้ กลายเป็นต้นไม้ที่ออกดอกออกผล ให้ภัทรพงษ์ ได้เก็บเกี่ยววิชาลูกพลาสติก นำไปเริ่มต้นประกอบอาชีพ ในฐานะนักตะกร้ออาชีพ สามารถหาเงินเลี้ยงชีพตัวเองได้ในที่สุด

เมื่อถึงวันที่สุกงอม ภัทรพงษ์ ยุพดี กลายเป็นนักตะกร้อระดับตำนาน เป็นผู้เล่นตำแหน่งตัวชงเบอร์หนึ่งของทีมชาติไทย บุคคลที่ภัทรพงษ์อยากขอบคุณมากที่สุด ไม่ใช่ใครนอกจากพ่อที่ปลูกฝังกีฬาตะกร้อไว้กับเขา จนกลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต

“หลังจากที่ผมติดทีมชาติครั้งแรก แล้วไปคว้าแชมป์คิงส์คัพ ได้เหรียญทองซีเกมส์ปี 2009 กลับมา ผมรีบกลับไปกราบเท้าพ่อ บอกท่านว่า ‘ขอบคุณครับ…พ่อทำให้ผมมีวันนี้ (เสียงสั่น)’ ตอนนี้ผมเข้าใจแล้วว่า ทำไมคุณพ่อถึงพยายามปลูกฝังให้ผมเล่นกีฬาตะกร้อ ภัทรพงษ์เล่าด้วยรอยยิ้ม

ทีมงานโค้ชที่ช่วยกล่อมเกลา

กว่าจะถึงวันที่ได้ลิ้มรสความสำเร็จ ภัทรพงษ์ ยุพดี ต้องก้าวผ่านอุปสรรคหลายอย่าง ที่เข้ามาท้าทายความสามารถของตัวเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกดดันในฐานะ นักตะกร้อทีมชาติไทย ผู้แบกเกียรติยศของธงไตรรงค์ ไว้บนหน้าอกของเสื้อ

“สำหรับผมการเล่นตะกร้อ มันกดดันทุกนัด เพราะใครก็มองว่า ตะกร้อทีมชาติไทยแพ้ไม่ได้ ความกดดันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเอาชนะความกดดัน”

แต่การเดินทาง บนเส้นทางสายนักกีฬาตะกร้ออาชีพ ภัทรพงษ์ไม่ได้เดินเพียงลำพัง เพราะมีทีมงานโค้ชฝีมือชั้นเลิศ นำโดยอาจารย์ กมล ตันกิมหงษ์ โค้ชตะกร้อทีมชาติไทย และทีมงานอีกหลายคน ที่คอยเคียงข้างให้คำปรึกษา เพื่อช่วยให้ภัทรพงษ์ สามารถโชว์ความสามารถของการเล่นตะกร้อ ได้อย่างเต็มความสามารถ

“บางครั้งที่ผมกดดัน โค้ชก็เข้ามาช่วยแนะนำว่า ให้เราลงไปเต็มเล่นให้เต็มที่ เล่นให้เหมือนที่เราซ้อมมา เท่านั้นก็ถือว่า เราประสบความสำเร็จแล้ว เพราะบางครั้งผลแพ้ชนะ ไม่ใช่สิ่งที่เรากำหนดได้”

“นักจิตวิทยาก็มีส่วนที่ช่วยพัฒนาผม ในการเอาชนะความกดดัน ทั้งแนวคิดในเรื่องการคิดบวก การคุยกับตัวเอง ซึ่งผมนำมาปรับใช้ ทั้งการฝึกซ้อม และการแข่งขันจริง เพื่อให้เราพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์”
“ผมคิดว่า ผมโชคดีมาก ที่มีโค้ชที่เอาใจใส่นักกีฬาขนาดนี้ โค้ชของเรา ไม่ได้แค่มาสอนตะกร้อ แล้วก็จบ แต่พวกท่านสอนเราทุกอย่าง ว่าการเป็นนักกีฬาทีมชาติที่ดีควรเป็นอย่างไร ท่านแบ่งปันประสบการณ์มากมาย ให้ผมได้เรียนรู้ ซึ่งไม่ได้ทำให้ผม เป็นนักตะกร้อที่ดีขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ทำให้ผมเป็นคนที่ดีขึ้น”

ทีมงานโค้ชของทัพตะกร้อทีมชาติไทยทุกคน จึงเป็นเหมือนที่คอยอยู่เบื้องหลัง ให้ความช่วยเหลือนักกีฬาทุกคน เพื่อให้นักตะกร้อทีมชาติไทย สามารถพัฒนาตัวเอง ได้เต็มขีดความสามารถ

ร่วมด้วยช่วยพัฒนา

เซปักตะกร้อ คือกีฬาที่ให้ความสำคัญกับการเล่นเป็นทีม แม้จะมีผู้เล่นในสนาม เพียงทีมละ 3 คน แต่ความสำคัญของทีมเวิร์ค ในกีฬาชนิดนี้ ไม่ต่างจากกีฬาชนิดอื่น ด้วยความสามารถของผู้เล่นเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถพาทีมประสบความสำเร็จได้ หากปราศจากการสนับสนุน ซึ่งกันและกันของเพื่อนร่วมทีม

สำหรับภัทรพงษ์ ยุพดี ในฐานะผู้เล่นตำแหน่งตัวชง ซึ่งไม่ใช่ตำแหน่งที่โดดเด่น แฟนกีฬาอาจไม่จดจำเขา เท่ากับผู้เล่นที่เป็นตัวฟาดลูกหน้าตาข่าย แต่ความสำคัญของตัวชง ถือว่าสำคัญไม่แพ้ตำแหน่งอื่น หรืออาจบอกได้ว่า เขาคือคนที่อยู่ข้างหลัง คอยสนับสนุนผู้เล่นคนอื่น ให้แสดงศักยภาพฝีเท้าการเล่นตะกร้อ ได้อย่างเต็มที่

“ถ้าเรารู้ว่าตัวเสิร์พคนนี้ ชอบลูกเสิร์พแบบไหน เราก็สามารถช่วยให้เขาเสิร์พ แบบเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ได้นะ หรือถ้าคุณรู้ว่าตัวฟาด ชอบฟาดลูกชงแบบไหน ถ้าเราสามารถชงลูกได้ดั่งใจเขา มันก็ช่วยให้เขาฟาดลูกได้เต็มประสิทธิภาพ” ภัทรพงษ์เล่าถึงหน้าที่ของตัวเอง ซึ่งคอยปลุกปั้นนักกีฬาคนอื่น ให้โดดเด่นในสนาม

ไม่ใช่แค่คอยผลักดันคนอื่น แต่เพื่อนร่วมทีมชาติทุกคนของภัทรพงษ์ ล้วนมีส่วนในการผลักดันตัวเขา ให้ก้าวขึ้นมาเป็นนักกีฬาคนสำคัญ ของทัพตะกร้อทีมชาติไทย ไม่ว่าจะเป็นรุ่นพี่หรือรุ่นน้อง ตั้งแต่ช่วงเริ่มเล่น จนถึงปัจจุบันที่เข้าสู่ช่วงปลายอาชีพ

“สมัยผมเริ่มเล่นใหม่ๆ ก่อนติดทีมชาติ ก็ได้พี่ๆทีมชาติในสมัยนั้น ที่เล่นสโมสรด้วยกัน คอยช่วยประคองเรา เพราะเราไม่มีประสบการณ์ พี่เขาก็ช่วยเราหลายอย่างเวลาเล่นในสนาม”

“ตอนนี้ผมเป็นรุ่นพี่ ก็ต้องช่วยเหลือน้องๆ ทั้งในและนอกสนาม คอยช่วยเหลือ คอยศึกษานิสัยของน้องๆแต่ละคน เพื่อให้เราเล่นเข้ากันได้ดี ในฐานะทีม เพราะนักกีฬา ไม่ได้มีแค่หน้าที่พัฒนาตัวเอง แต่เราต้องพัฒนาคนอื่นไปพร้อมๆกัน”

“สำหรับตัวผมเอง กว่าจะมาถึงตรงนี้ ผมเรียนรู้อะไรหลายอย่างจากเพื่อนร่วมทีม พยายามศึกษาคนอื่น ทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้อง คนไหนเล่นเก่งเล่นดี เราเอาวิธีการเล่นของเขา มาปรับใช้กับตัวเราเอง เพื่อพัฒนาจุดเด่น และปรับปรุงแก้ไขจุดด้อยของเรา”

แรงผลักจากคนข้างหลัง

“ถ้าถามผมว่า ผมมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร สำคัญที่สุดเลยคือครอบครัว คุณพ่อ คุณแม่ ภรรยาของผม รวมไปถึงญาติพี่น้อง เพื่อนร่วมทีม โค้ช และกองเชียร์ของผม ที่ให้กำลังใจมาโดยตลอด” ภัทรพงษ์ กล่าวถึงกลุ่นคนที่คอยอยู่เบื้องหลัง ผลักดันให้เขาประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้

การเป็นติดทีมชาติ ในฐานะนักกีฬา เป็นเรื่องที่ยาก แต่การยืนระยะเป็นนักกีฬาทีมชาติ ยาวนานมากกว่า 10 ปี เป็นเรื่องที่ยากกว่า เพราะทุกช่วงเวลาบนเส้นทางแห่งฝัน มีอุปสรรคที่เข้ามาท้าทาย ชายที่ชื่อ ภัทรพงษ์ ยุพดี อยู่เสมอ

“ตอนเป็นหนุ่มความกดดันคือปัญหาของเรา พอเราแก่ลงเรื่องความกดดันไม่ใช่ปัญหาแล้ว แต่กลายเป็นเรื่องของสภาพร่างกายที่แก่ลง ผมไม่สามารถซ้อมหนักได้เท่าสมัยก่อน รวมถึงสภาพจิตใจ เมื่อเราชนะมากๆ กลายเป็นความกระหายในชัยชนะ มันเริ่มลดลงไป ไม่เหมือนเดิม”

“ที่ผมยังคงเล่นตะกร้ออยู่ ยังคงกระหายในชัยชนะอย่างเต็มร้อย เป็นเพราะกองเชียร์ทุกคน ทุกครั้งที่ผมมองไปที่อัฒจันทร์ ได้เห็นครอบครัว ญาติพี่น้อง กองเชียร์ส่งเชียร์ ให้กำลังใจเรา อยากเห็นเราชนะ มันทำให้ผมคิดว่า ทำไมผมต้องยอมแพ้กับอุปสรรคที่เข้ามา”

เพราะบางครั้งนักกีฬาชั้นเลิศ ต้องการคนที่จะมาปรุงแต่งจิตใจ ให้เขาลุกขึ้นสู้ และทำหน้าที่ได้อย่างเต็มความสามารถ สำหรับ ภัทรพงษ์ ยุพดี กองเชียร์ทุกคนคือแรงผลักดัน คือแรงใจ ที่ทำให้เขายังคงเล่นตะกร้ออย่างสุดความสามารถ

ด้วยวัย 35 ปี ภัทรพงษ์ยังคงมุ่งมั่น ที่จะเป็นนักตะกร้อตัวชงหมายเลข 1 ของประเทศไทยต่อไป แม้ร่างกายจะไม่เหมือนกับคนวัยหนุ่ม แต่จิตใจของเขายังคงแข็งกล้า เพราะเขาได้รับการสนับสนุนที่เข้มถึงใจ จากแฟนกีฬาชาวไทย ที่คอยหนุนหลังทีมชาติไทยด้วยดีตลอดมา

ยามนักกีฬาทีมชาติไทยลงสนาม พวกเขาไม่มีอะไรต้องกลัวอีกต่อไป เพราะได้รับการสนับสนุนจาดแฟนกีฬาชาวไทยส่งเสียงเชียร์ ทีมชาติไทย…มั่นใจสู้ไปด้วยกัน”

By mkwins